วันศุกร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

บทที่ 4
สังเขปแนวคิดทางปรัชญาที่สำคัญ

ความเข้าใจว่า “มนุษย์คืออะไร?” “คุณค่าและความหมายชีวิตคืออะไร?” เป็นพื้นฐานสำคัญต่อการกำหนดวิถีชีวิตและการพัฒนาตนของมนุษย์ ปรัชญาในฐานะศาสตร์ที่พยายามใช้เหตุผลเพื่อตอบปัญหาเกี่ยวกับความจริง โดยแยกเป็นสามประเด็นคือ อะไรคือความเป็นจริง (Metaphysics/Ontology) เรารู้ความจริงได้อย่างไร (Epistemology) และอะไรเป็นคุณค่าแท้จริง (Axiology) คำตอบที่ว่า “มนุษย์คืออะไร?” ในด้านคุณค่าและความหมายของชีวิต จึงถือเป็นหน้าที่โดยตรงของปรัชญา คำตอบที่ปรัชญาให้ มีหลายแนวความคิด ขึ้นกับว่านักปรัชญาท่านนั้น ๆ จะมองหรือเน้นในส่วนไหน “ถ้าพิจารณาในแง่ประวัติศาสตร์ พบว่าปรัชญามีวิวัฒนาการ ๆ ของปรัชญาเป็นเหตุให้เกิดปรัชญามากมายหลายสาขาหลากแนวคิด” (สมัคร, 2544: 15) อาทิเช่น เอกนิยม ทวินิยม พหุนิยม สสารนิยม จิตนิยม ประจักษนิยม เหตุผลนิยม จักรกลนิยม ปฏิบัตินิยม อัตถิภาวนิยม บุคคลนิยม ฯลฯ แล้วแต่ว่าจะเน้นนำเสนอความจริงในด้านไหน เป็นการเน้นอธิบายปริมาณความจริง สภาพ/ธรรมชาติของความจริง การรับรู้ความจริง หรือเน้นเรื่องการนำไปประยุกต์ใช้กับชีวิตมนุษย์หรือการอธิบายสิ่งต่าง ๆ เป็นต้น โดยผ่านทางการอธิบายความคิดของนักปรัชญาตามยุคสมัยต่างๆ จวบจนปัจจุบัน

ในการนำเสนอเนื้อหาในบทนี้ เชื่อมโยงกับบทที่ผ่านมา ทั้งนี้ ไม่ได้นำเสนอแนวคิดทางปรัชญาทั้งหมด เพียงแต่ยกบางลัทธิมานำเสนอ เพื่อเป็นแนวทางในการตอบปัญหาเชิงปรัชญาที่เชื่อมโยงกันระหว่างแนวคิดที่ตอบปัญหาเชิงอภิปรัชญา ญาณวิทยาและคุณวิทยา (อัคฆวิทยา) ทั้งนี้จะเน้นการนำเสนอโดยยึดแนวปรัชญาตะวันตกเป็นหลัก เนื่องจากปรัชญาตะวันตกมีการแยกแยะทฤษฏีความคิดที่ชัดเจน ทั้งนี้จะนำเสนอนักปรัชญาตะวันออกมาเป็นส่วนเสริมบ้าง

1. ทฤษฏีทางอภิปรัชญา
1.1 ทฤษฏีเรื่องความเป็นจริงคืออะไร

ในประวัติแนวคิดด้านปรัชญา มีการอธิบายว่า “ความเป็นจริงคืออะไร?” หลายรูปแบบ แต่สามารถจัดประเภทได้เป็นสามกลุ่มแนวคิด ได้แก่ เอกนิยม ทวินิยมและพหุนิยม

1.1.1 เอกนิยม (Monism)
มีแนวคิดว่าความเป็นจริงมีอย่างเดียว มีสองลัทธิที่สำคัญ คือ เอกนิยมแบบอุดมการ หรือเอกนิยมแบบจิต กับ เอกนิยมแบบสสาร เวลาใช้จริงมักเรียกว่า “จิตนิยม” หรือ “อุดมการนิยม” และ “สสารนิยม”

ก. จิตนิยม/อุดมการนิยม (Idealism)
1) ความหมาย

แนวคิดที่นำเสนอว่าความเป็นจริงมีอย่างเดียว คือ ภาวะ (สิ่ง) ที่เป็นอุดมการณ์ ซึ่งส่วนมากถือว่าได้แก่ “จิต” (กีรติ บุญเจือ. 2522: 302) หรือภาวะ (สิ่ง) ที่เกี่ยวข้องกับจิต ซึ่งเป็นภาวะที่สมบูรณ์และเป็นสากล แนวคิดนี้ มีทั้งการปฏิเสธการมีอยู่ของสสาร และยอมรับว่าสสารมีอยู่ แต่จิต/อุดมการณ์สำคัญกว่าสสาร และเป็นบ่อเกิดของสสาร

แนวคิดที่เสนอว่า ความเป็นจริงมีอย่างเดียว คือ ภาวะ (สิ่ง) ที่เป็นอุดมการณ์ (จิต) นี้ มีนักปรัชญาหลายท่านที่นำเสนอความคิด ทั้งนักปรัชญาตะวันตกและตะวันออก อาจมีการใช้ “คำ” ที่แตกต่างกันและอธิบายคุณลักษณะปลีกย่อยกันออกไป ตัวอย่างเช่น

1.1) เปลโต้ (Plato, ราวปี 428 – 347 ก่อน ค.ศ.) เสนอความคิดว่า ความเป็นจริงมีอย่างเดียว คือ “แบบ” (Form) ในโลกแห่งมโนคติ/โลกแห่งแบบ (The world of Idea) และสิ่งต่างๆ ในโลกมนุษย์ เป็นการลอกแบบมาจากโลกแห่งแบบ

1.2) เฟรดริช เฮเก็ล (George Wilhelm Friedrich Hegel, ค.ศ. 1770 – 1831) เสนอความคิดว่า ความเป็นจริงมีอย่างเดียว คือ “มโนคติ” (Idea) ซึ่งมีพัฒนาการตามหลักปฏิพัฒนาการ (Principle of dialectic) เป็นมูลบท และนำมาอธิบายความเป็นจริงที่ต่อเนื่องและไม่มีขอบเขตได้

1.3) รามานุชะ (Ramanuja, ค.ศ. 1017 – 1137) เสนอความคิดว่าความเป็นจริงมีหน่วยเดียว คือ อาตมัน (Atman) (กีรติ บุญเจือ. 2522: 214) และอาตมันนี้แปรสภาพเป็นสองอัญรูป คือ เป็นพรหม (Brahman) หรือปรมาตมัน (Paramatman) อันเป็นอัญรูปที่เป็นวิญญาณของสรรพสิ่ง และเป็นสรรพสิ่งอันเป็นอัญรูปที่เป็นร่างกายของพรหม ทั้งสองเป็นอัญรูปของความเป็นจริงเดียว

1.4) เหลาจื้อ (Lao Tse, ราวศตวรรตที่ 5 ก่อน ค.ศ.) เสนอความคิดว่า ความเป็นจริงแท้คือ “เต๋า” (Tao) (นามสมมุติ) อันเป็นธรรมชาติที่อยู่เหนือการสมมุติ มีอยู่เอง เป็นนิรันดร เป็นบ่อเกิดของสรรพสิ่งและพิสูจน์ไม่ได้ด้วยประสบการณ์ระดับประสาทสัมผัส

2) สรุปแนวคิดทั่วไปของแนวคิดจิตนิยม/อุดมการนิยม

2.1) ความเป็นจริงแท้ คือ ภาวะที่มีลักษณะเป็นจิต มีทั้งการปฏิเสธการมีอยู่ของสสาร (ถือว่าสสารเป็นมายา ไม่มีอยู่จริง) หรือมีลักษณะเป็นปรปักษ์กับสสาร บางครั้งมีการยอมรับว่าสสารก็มีอยู่จริงด้วย แต่พัฒนาการมาจากจิต และอยู่ภายใต้จิต

2.2) จิตเป็นนิรันดร เป็นสากล ไม่เปลี่ยนแปลงและเป็นพื้นฐาน/บ่อเกิดของสรรพสิ่ง จิตเป็นหลักการของสรรพสิ่ง ที่ทำให้ทุกสิ่งเป็นระบบและมีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง

2.3) ส่วนใหญ่แนวคิดจิตนิยม/อุดมการนิยมเน้นตอบปัญหาเกี่ยวกับทฤษฏีความเป็นจริง (อภิปรัชญา/ภววิทยา) ส่วนการอธิบายทฤษฏีความรู้ (ญาณวิทยา) จะเชื่อมต่อ มีความสัมพันธ์กับแนวคิดเหตุผลนิยม

ข. สสารนิยม (Materialism)
1) ความหมาย

แนวคิดที่เสนอว่าความเป็นจริงแท้มีอย่างเดียว ซึ่งเป็นหลักการ/ระบบที่ตายตัว และหลักการนี้ คือ สสาร/วัตถุ (ปฐมธาตุ) แล้วแต่ คำ และการอธิบายในรายละเอียดที่นักปรัชญาแต่ละท่านจะนำเสนอความคิด แนวคิดนี้มีทั้งการปฏิเสธการมีอยู่ของจิต และการยอมรับว่าจิตมีอยู่ แต่อยู่ภายใต้สสาร หรือพัฒนาตัวมาจากสสาร นักปรัชญาที่นำเสนอแนวคิดนี้ ส่วนใหญ่เป็นนักปรัชญาตะวันตกยุคกรีกและยุคปัจจุบัน เช่น

1.1) เทเลส (Thales of Miletus, 624 – 546 ก.ค.ศ.) พยายามหาคำอธิบายเกี่ยวกับปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ โดยไม่ต้องอ้างอิงคำตอบที่เหนือธรรมชาติ ท่านเสนอว่าสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ มีหลักการที่แน่นอน ถ้าเรารู้จักหลักการนั้น เราจะสามารถอธิบายปรากฎการที่เกิดขึ้นได้ ท่านจึงเสนอความคิดว่า หลักการนั้น คือ ความเป็นจริง (หรือปฐมธาตุ) และท่านได้นำเสนอต่อไปว่า ปฐมธาตุ คือ น้ำ แต่ท่านก็ไม่ได้อธิบายเหตุผลว่าทำไมจึงบอกว่าเป็นน้ำ (เป็นไปได้ว่า เทเลสเน้นการตั้งคำถาม และปรารถนาให้ศิษย์คิดและอธิบายคำตอบกันต่อไป)

1.2) คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx, ค.ศ. 1818 – 1883) นำแนวคิดและหลักปฏิพัฒนาการ ของ โยฮันน์ ฟิกเต (Johann Gottlieb Fichte, ค.ศ. 1762 – 1864) ซึ่งพัฒนาต่อโดย เฟรดริช เฮเก็ล (George Wilhelm Friedrich Hegel, ค.ศ. 1770 – 1831) มาเชื่อมโยงกับแนวคิดของลุดวิค ฟ็อยเออร์บัค (Ludwig Feuerbach, ค.ศ. 1804 – 1872) จึงเสนอความคิดว่า ความเป็นจริง คือ สสารที่มีพลังและพัฒนาด้วยการขัดแย้งตามหลักปฏิพัฒนาการ

2) สรุปแนวคิดทั่วไปของลัทธิสสารนิยม
2.1) ความเป็นจริงแท้ มีอย่างเดียว คือ สสาร และรับรู้ได้ด้วยประสบการณ์ทางประสาทสัมผัส
2.2) ปรากฎการณ์ของสสาร คือ ความเปลี่ยนแปลง
2.3) ยอมรับทฤษฏีหน่วยย่อย และการทอนลง เนื่องจากสสารเป็นสิ่งเฉพาะและสามารถทอนย่อยเป็นรายละเอียดลงได้
2.4) ค่าต่าง ๆ (นามธรรม) เป็นสิ่งสมมติ ไม่มีอยู่จริง
2.5) ทุกสิ่งแน่นอนตายตัว สามารถอธิบายและดำเนินเป็นไปตามกฎเกณฑ์/หลักการที่แน่นอน ถ้าเรารู้สาเหตุ เราจะบอกได้ว่าผลคืออะไร
2.6) แนวคิดนี้ มีทั้งการปฏิเสธการมีอยู่ของจิต และการยอมรับการมีอยู่ของจิต แต่ความเป็นจริงแท้ คือ สสาร โดยสสารควบคุม อยู่เหนือ หรือเป็นจุดกำเนิดของจิต

1.2.2 ทวินิยม (Dualism)
ทฤษฏีทางอภิปรัชญาที่เสนอแนวคิดว่าความเป็นจริง มีสองอย่าง คือ จิตและวัตถุ/สสาร แนวคิดมีลักษณะประสานแนวคิดของจิตนิยมกับสสารนิยมเข้าด้วยกัน มีการให้ชื่อว่า “แนวคิดธรรมชาตินิยม” (Naturalism) หรือ “สัจนิยม” (Realism) (วิทย์ วิศทเวทย์, 2538)

ก. ประเภทของแนวคิด
แบ่งย่อยได้สองแนวคิด คือ (กีรติ บุญเจือ. 2522: 122)

1) แนวคิดที่สอนว่า ความเป็นจริง คือ จิตและสสาร จิตเป็นผู้สร้างสสาร เมื่อสร้างแล้ว ก็ให้สสารมีความเป็นอยู่ของตนเอง แต่จิตจะทำลายสสารเมื่อไหร่ก็ได้
2) แนวคิดที่สอนว่า ความเป็นจริง คือ จิตและสสาร ทั้งสองมีอยู่ตั้งแต่ต้น ไม่มีใครสร้าง แต่จิตสามารถควบคุมสสารได้ ถ้ารู้จักกฎของสสาร

ข. ตัวอย่างของนักปรัชญาในกลุ่มทวินิยม

1) พระมหาวีระ (Mahavira, ราวปี 599 ก่อน ค.ศ.) ศาสดาของศาสนาเชน มีแนวคิดว่าความเป็นจริง ได้แก่ชีวะ (สสาร) และอชีวะ (อสสาร) ทั้งสองต่างมีอิสระ ไม่ขึ้นต่อกัน
2) มาธวาจาระยะ ผู้ตั้งกลุ่มทไวตะวาทะ (Dvaitabada) เสนอความคิดว่าความเป็นจริง คือ จิต (อาตมัน) และสสาร

3) อานักซาโกรัส (Anaxagoras of Clazomene, 499 – 428 ก่อน ค.ศ.) เสนอความคิดว่า ความเป็นจริง (ปฐมธาตุ) คือ “จิตและสสาร” สสารมีจำนวนนับไม่ถ้วน และมี (แฝง) ในทุกสิ่ง การเปลี่ยนแปลง คือ การที่สสาร (ที่แฝงอยู่ในสิ่งนั้น) แสดงตัวออกมา ส่วนจิต มีพลังที่สามารถควบคุมสสารได้ และคอยจัดระเบียบในสิ่งต่างๆ

4) ฮ็อลต์ (E.B. Holt), มาร์วิน (W.T. Marvin) เสนอความคิดว่า ความเป็นจริง คือ สสารและพลังของสสาร (จิตเป็นพลังของสสาร) (กีรติ บุญเจือ. 2522: 254)

ค. สรุปแนวคิดทั่วไปของกลุ่มทวินิยม

1) ความจริง เป็นสิ่งที่มีอยู่ในเวลา สถานที่ มีเกิด มีดับ อาจเป็นจิตที่พัฒนาเป็นสสาร หรือสสารที่พัฒนาเป็นจิตก็ได้ แนวคิดนี้ยอมรับทั้งสิ่งในธรรมชาติและเหนือธรรมชาติ

2) ยอมรับว่าบางสิ่งรู้ได้ด้วยประสบการณ์ทางประสาทสัมผัส (วิธีการทางวิทยาศาสตร์) และบางสิ่ง รู้ได้อาศัยเหตุผล

1.2.3 พหุนิยม (Pluralism)

ก. ความหมาย

ทฤษฏีทางอภิปรัชญาที่มีแนวความคิดว่า ความเป็นจริงมีหลากหลาย นับไม่ถ้วน อาจเป็นจิตก็ได้ สสารก็ได้ มีจำนวนมหาศาล/อนันต์ ส่วนใหญ่พัฒนาจากแนวคิดสสารนิยม ที่คิดว่าความเป็นจริงเป็นสสาร แต่มีลักษณะที่ต่างกัน สรรพสิ่งดำเนินไปตามการรวมตัวหรือแยกตัวของธาตุต่างๆ

ข. ตัวอย่างนักปรัชญาในกลุ่มพหุนิยม

1) อชิตะเกสะกัมพะละ (Ajita-Keaskambala, ราวศตวรรษที่ 6 ก่อน ค.ศ.) มีแนวความคิดว่า ความเป็นจริงมีแต่สสาร ทุกสิ่งเกิดจากการรวมกันของธาตุสี่ (ดิน น้ำ ลม ไฟ) และเปลี่ยนแปลงไปตามการสลายตัวและการรวมตัวใหม่ของธาตุสี่

2) เอ็มเปโดเคล็ส (Empedocles, 492 – 430 ก่อน ค.ศ.) มีความคิดว่า ความเป็นจริง คือ ปฐมธาตุ ประกอบด้วย ดิน น้ำ ลม ไฟ การเปลี่ยนแปลงเป็นผลมาจากการแยก/รวมกันของธาตุทั้งสี่

1.2 การอธิบายปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลง

ทฤษฏีที่อธิบายปัญหาว่า สิ่งต่างๆ เปลี่ยนแปลงได้อย่างไร มีพื้นฐานจากทฤษฏีที่อธิบายปัญหาเรื่องความเป็นจริงคืออะไร (หัวข้อ 1.1, ความเป็นจริงเป็นจิต สสาร หรือทั้งจิตและสสาร) โดยทั่วไปจะพบได้ในนักปรัชญาตะวันตก จึงสรุปการอธิบายว่าสิ่งต่างๆ เปลี่ยนแปลงตามแนวคิดที่จะนำเสนอ ดังต่อไปนี้ (วิทย์ วิศวเวทย์, 2538)

1.2.1 อันตนิยม (Finalism) : การเปลี่ยนแปลง คือ การก้าวสู่จุดหมายปลายทาง

แนวคิดนี้มีพื้นฐานจากแนวคิดที่อธิบายความเป็นจริง ว่าเป็นจิต/อุดมคติ (จิตนิยม/อุดมการนิยม) มีหลักการพื้นฐานว่าทุกสิ่งมีจุดหมายปลายทาง การเปลี่ยนแปลง เป็นปรากฎการที่พัฒนาสู่จุดหมายปลายทาง ทุกสิ่งมีจุดหมายปลายทาง ไม่มีอะไรเกิดขึ้นมาลอย ๆ หรือเกิดโดยบังเอิญ แต่มีจุดเริ่มต้นและจุดหมายปลายทาง เช่น พระเจ้า หรือ ความเป็นจริงสูงสุด

ตัวอย่างนักปรัชญาที่เสนอแนวคิดเช่นนี้ ได้แก่ นักปรัชญาในกลุ่มจิตนิยม/อุดมการนิยม เช่น เปลโต้ (Plato, ราวปี 428 – 347 ก่อน ค.ศ.) อริสโตเติ้ล (Aristotle, ราวปี 384 – 322 ก่อน ค.ศ.) โปลตีนุส (Plotinus, ราว ค.ศ. 205 – 270) เป็นต้น

1.2.2 จักรกลนิยม (Mechanism) : การเปลี่ยนแปลง คือ การดำเนินตามหลักการที่ตายตัว

แนวคิดนี้ มีพื้นฐานจากลัทธิสสารนิยม มีหลักการพื้นฐานว่า การเปลี่ยนแปลงขึ้นกับเหตุปัจจัยภายนอก เสนอแนวคิดว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นไปเพื่อสู่จุดหมายอะไร แต่เป็นไปอย่างเครื่องจักรกล กล่าวคือ ทุกสิ่งถูกกำหนดตายตัวปัจจุบันถูกกำหนดโดยอดีต ทุกสิ่งเป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่แน่นอนตายตัว ทุกสิ่งถูกผลักดันจากสิ่งภายนอก ไร้จุดหมาย ไม่มีอะไรใหม่ เราสามารถคาดการณ์ได้ว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น โดยดูพื้นฐานจากปัจจุบันและอดีต แนวคิดอาจเรียกอีกชื่อหนึ่งได้ว่า “นิยตินิยม” (Determinism)

ตัวอย่างนักปรัชญาที่อธิบายตามแนวทางนี้ ได้แก่ โทมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes, ค.ศ. 1588 – 1679) ไอแซค นิวตัน (Isaac Newton, ค.ศ. 1642 – 1727) เป็นต้น

1.2.3 นวนิยม : การเปลี่ยนแปลง คือ การก้าวสู่สิ่งใหม่

แนวคิดนี้ เป็นการประสานระหว่างแนวคิดอันตนิยมกับจักรกลนิยม เสนอความคิดว่าการเปลี่ยนแปลงขึ้นกับเหตุปัจจัยภายในและภายนอก การเปลี่ยนแปลงเป็นผลมาจากการที่ทุกสิ่งก้าวไปสู่สิ่งใหม่ แนวคิดเริ่มต้นเหมือนจักรกลนิยม แต่คิดว่าทุกสิ่งสามารถก้าวพ้นและไม่ใช่ดำเนินแบบตายตัว แต่ขึ้นกับเหตุปัจจัยภายนอกและภายใน

ตัวอย่างนักปรัชญาที่อธิบายตามแนวทางนี้ ได้แก่ เฟรดริช เฮเก็ล (George Wilhelm Friedrich Hegel, ค.ศ. 1770 – 1831) ซามูเอล อเล็กซานเดอร์ (Samuel Alexander, ค.ศ. 1859 – 1938) เป็นต้น

1.3 ปัญหาเรื่อง “มนุษย์” : มนุษย์คืออะไร มีเจตจำนงเสรีหรือไม่

แนวคิดทางปรัชญา เริ่มต้นจากความคิด ความสงสัยของมนุษย์ และพยายามหาคำตอบ จากแนวทางที่มีการอธิบายปัญหาเชิงอภิปรัชญา (ความเป็นจริงคืออะไร) นำสู่แนวทางการอธิบายว่ามนุษย์คืออะไร ซึ่งสามารถให้คำตอบกว้างๆ สามแนวทาง ดังนี้

1.3.1 มนุษย์ คือ จิต และมีเจตจำนงเสรี (จิตนิยม/อัตถิภาวนิยมบางกลุ่ม)

แนวคิดนี้ มีพื้นฐานมาจากจิตนิยม ให้คำตอบว่า สาระสำคัญของมนุษย์ คือ จิต หรือวิญญาณ ซึ่งเป็นอมตะ เป็นคุณลักษณะที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสิ่งมีชีวิตทั่วไป ร่างกาย (สสาร) เป็นเพียงส่วนประกอบของจิต มนุษย์จึงมีเจตจำนงเสรีที่จะตัดสินใจเลือกด้วยเสรีภาพและต้องรับผิดชอบต่อการดำเนินชีวิตของตน

ตัวอย่างนักปรัชญาที่อธิบายตามแนวคิดนี้ ได้แก่ โซคราเตส (Socrates, ราวปี 470 – 399 ก่อน ค.ศ.) เปลโต้ (Plato, ราวปี 428 – 347 ก่อน ค.ศ.) นักบุญออกัสติน (St. Augustine, ค.ศ. 354 – 430) รวมทั้งแนวคิดของนักปรัชญากลุ่มอัตถิภาวนิยม ที่เน้นศักยภาพทางจิต และอธิบายคุณลักษณะพิเศษของมนุษย์ว่า มีเสรีภาพที่ไม่มีอะไรมาจำกัด เช่น แนวคิดของ ฌอง ปอล ซาร์ต (Jean Paul Sartre, ค.ศ. 1905 - 1980) เป็นต้น

1.3.2 มนุษย์ คือ สสาร และไม่มีเจตจำนงเสรี (สสารนิยม)

แนวคิดนี้ มีพื้นฐานจากแนวคิดสสารนิยม ให้คำตอบว่า สาระสำคัญของมนุษย์ คือ ร่างกาย (สสาร) จิตเป็นเพียงคุณลักษณะอย่างหนึ่งของสสาร (ร่างกาย) แม้มนุษย์จะมีสิ่งพิเศษกว่าสัตว์อื่น ๆ แต่ลักษณะพิเศษนี้เป็นเพราะมนุษย์มีโครงสร้างของร่างกาย (สมอง) ที่พิเศษกว่าสัตว์อื่น มนุษย์จึงดำเนินชีวิตเพื่อตอบสนองความต้องการทางร่างกาย (เพราะวิญญาณไม่มีจริง) เน้นความสุขระดับร่างกายและการกระทำของมนุษย์เป็นไปตามสัญชาตญาณ (หรือจิตไร้สำนึก) มนุษย์ไม่มีเจตจำนงเสรี ดังนั้น จึงไม่ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตน

ตัวอย่างนักปรัชญาที่อธิบายตามแนวทางนี้ ได้แก่ โทมัส ฮ็อบส์ (Thomas Hobbes, ค.ศ. 1588 – 1679) เป็นต้น

1.3.3 มนุษย์ คือ กายและจิต แม้มนุษย์มีความจำกัด แต่มีศักยภาพที่จะพัฒนาตนสู่ชีวิตที่สมบูรณ์ได้ : มนุษย์มีเจตจำนงเสรี แต่ ไม่ใช่เจตจำนงเสรีแบบสุดโต่ง (อัตถิภาวนิยมบางกลุ่มและบุคคลนิยม)

แนวคิดนี้ มีพื้นฐานมนุษย์คือกายและจิต จะตัดส่วนใดส่วนหนึ่งออกไปไม่ได้ ในฐานะที่มนุษย์เป็นจิต มนุษย์จึงมีเจตจำนงเสรี แต่ในขณะเดียวกัน มนุษย์ก็เป็นสสาร มีร่างกาย มนุษย์เป็นทั้งกายและจิตที่เป็นหนึ่งเดียวกัน ดังนั้น การกระทำของมนุษย์จึงเป็นการผสานกันของกายและจิต ในขณะเดียวกัน เมื่อมนุษย์มีเจตจำนงเสรี มนุษย์จึงต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตน แนวคิดเช่นนี้ พบได้จากแนวคิดของนักปรัชญาอัตถิภาวนิยม (แนวเทวนิยม) ซึ่งพัฒนาสู่แนวคิดบุคคลนิยม ที่พิจารณามนุษย์ สำนักปรัชญานี้เน้นถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในสังคม โดยตระหนักถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีของคนอื่น เปิดจิตใจต้อนรับเพื่อนมนุษย์ด้วยความเคารพ และนำคุณลักษณะภายในบุคคล ได้แก่ ความรู้สำนึก เสรีภาพและความสัมพันธ์กับคนอื่น เพื่อพัฒนาตนเอง และมุ่งสู่การเป็นบุคคลที่สมบูรณ์ในพระเจ้า (บุคคลสมบูรณ์สูงสุด)

ตัวอย่างนักปรัชญากลุ่มนี้ ได้แก่ กาเบรียล มาร์เซ็ล (Gabriel Marcel, ค.ศ. 1889 - 1973) อิมมานูเอล มูเนียร์ (Immanuel Munier, ค.ศ. 1905 - 1950) อิมมานูเอล เลวีนัส (Immanuel Levinas, ค.ศ. 1906 – 1995) และพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 เป็นต้น

2. ทฤษฏีทางญาณวิทยา

ทฤษฎีทางญาณวิทยามุ่งตอบปัญหาว่า มนุษย์รู้ความจริงได้อย่างไร เป็นผลสืบเนื่องจากการที่วิทยาศาสตร์ได้กำเนิดและได้กำหนดวิธีการ อันนำมาซึ่งความรู้สากลที่ทุกคนยอมรับ (มติสากลของวิทยาศาสตร์) ส่งผลให้มีการตั้งคำถามว่า แล้วปรัชญามีหลักการหาความรู้อย่างไร จึงมีการนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับหลักการได้มาซึ่งความรู้ของปรัชญา (รู้ความจริงได้อย่างไร) โดยสรุปแนวคิดที่สำคัญสามแนวกว้างๆ ได้แก่

2.1 เหตุผลนิยม (Rationalism)

2.1.1 พื้นฐานและลักษณะแนวคิด
แนวคิดเหตุผลนิยม มีพื้นฐานจากแนวคิดที่อธิบายความเป็นจริงว่า เป็นจิต/อุดมการ จิต (สติปัญญา) ของมนุษย์เป็นคุณลักษณะพิเศษ สามารถรู้ความจริง เน้นศักยภาพของจิต (สติปัญญา) ซึ่งมีศักยภาพที่จะเข้าใจความจริง ที่เป็นสากล และแน่นอนตายตัว ซึ่งประสาทสัมผัสไม่สามารถให้ได้ แนวคิดนี้ เน้นบทบาทของจิต ในการแสวงหาความรู้ด้วยการใช้เหตุผล ซึ่งเป็นศักยภาพของมนุษย์ในการใช้สติปัญญา (จิต) เพื่อการรู้ความจริง ความจริง/ความรู้มีลักษณะที่แน่นอน ชัดเจนและเป็นสากล ดังนั้น ต้องใช้จิตมนุษย์ ที่เป็นสากล จึงจะเข้าใจกันได้ (สิ่งเหมือนกัน ย่อมเข้าใจกัน) นักปรัชญาที่สำคัญมากในกลุ่มเหตุผลนิยม คือ เรอเน เดสการต์ (Rene Descartes, ค.ศ. 1596 – 1650) ซึ่งสรุปความคิดได้ว่า

ก. ความรู้ที่ถูกต้อง ต้องมีความแน่นอน ตายตัว
ข. มนุษย์มีสติปัญญาที่สามารถบรรลุถึงความจริงได้
ค. ปฏิเสธความรู้ที่ได้จากประสาทสัมผัส เพราะประสาทสัมผัสหลอกลวงเรา (ประสาทสัมผัส เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ขึ้นกับกาลเวลา สถานที่)
ง. ใช้วิธีการ “นิรนัย” กล่าวคือ การพิสูจน์ความจริง อาศัยความจริงที่มีอยู่เดิม เช่น นักศึกษาวิทยาลัยแสงธรรมต่างเรียบจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 (หรือเทียบเท่า) แล้ว ดังนั้น นาย ก. (นักศึกษาคนหนึ่งของวิทยาลัยแสงธรรม) จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 แล้ว เป็นต้น

2.1.2 ตัวอย่างแนวคิดที่เกี่ยวข้อง

แนวคิดเหตุผลนิยม สามารถแยกย่อยได้อีกหลายทฤษฏี (กีรติ บุญเจือ, 2522) เช่น

ก. ทฤษฏีการระลึกได้ (Theory of recollection) เสนอความคิดว่าความรู้ของมนุษย์ คือ การระลึกได้ เนื่องจากความรู้แฝงในวิญญาณมนุษย์ แต่มนุษย์หลงลืมไปเนื่องจากมนุษย์มีร่างกาย จึงจำเป็นต้องช่วยขุด หรือฟื้นความรู้ (ที่เขามีอยู่แล้ว) เพื่อให้เขาระลึกได้ถึงความจริงที่เขารู้อยู่แล้ว อาศัยประสบการณ์ ครูช่วยกระตุ้น และการทำปัสนา นักปรัชญาที่สำคัญตามแนวคิดนี้ ได้แก่ เปลโต้ (Plato, ราวปี 428 – 347 ก่อน ค.ศ.)

ข. ทฤษฏีส่องสว่าง (Theory of illumination) เสนอความคิดว่า ความรู้ของมนุษย์ได้จากการที่พระเจ้าประทานให้ภายในจิต (สติปัญญา) เนื่องจากความรู้ทั้งหลายอยู่ในพระเจ้า มนุษย์เข้าใจความจริงได้ก็เพราะพระเจ้าประทานให้ นักปรัชญาที่สำคัญตามแนวคิดนี้ ได้แก่ นักบุญออกัสติน (St. Augustine, ค.ศ. 354 – 430)

ค. ทฤษฏีอัชฌัตติกญาณ (Theory of intuitionism) เสนอความคิดว่าความจริงได้มาจากการฝึกจิต จนถึงขั้นอุตรญาณ (ตรัสรู้) ความรู้โดยทางอื่นไม่อาจจะยืนยันได้ว่าจริง นอกจากจะตรงกับความรู้ที่ได้จากญาณวิเศษดังกล่าว นักปรัชญากลุ่มนี้แต่ละคนจะอ้างว่าตนเองเป็นคนแรกที่บรรลุถึงญาณนี้ ดังนั้น ถ้าใครจะบรรลุถึงจะต้องเข้าใจความจริงได้เช่นเดียวกัน นักปรัชญาสำคัญในกลุ่มนี้ ได้แก่ ฟิกเต (Johann Gottlieb Fichte, ค.ศ. 1762 – 1864) เชลลิง (Friedrich Wilhelm Joseph von Sheliing, ค.ศ. 1775 – 1854) เฮเก็ล (George Wilhelm Friedrich Hegel, ค.ศ. 1770 – 1831) โชเป็นฮาวเวอร์ เวอร์ (Arthur Schopenhauer, ค.ศ. 1788 – 1860) นิตเช่ (Friedrich Wilhelm Nietzsche, ค.ศ. 1844 – 1900)


2.2 ประสบการณ์นิยม/ประจักษ์นิยม (Empiricism)

2.2.1 พื้นฐานและลักษณะแนวคิด

แนวคิดประสบการณ์นิยม มีพื้นฐานจากแนวคิดที่เสนอว่าความเป็นจริง เป็นสสาร (สสารนิยม) ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ (ปรัชญกรีกระยะเริ่มต้น) แนวคิดนี้มีลักษณะตรงกันข้ามกับแนวคิดเหตุผลนิยม ด้วยการ เน้นบทบาทของประสาทสัมผัส ว่าเป็นแหล่งที่มาของความรู้/ความจริง มนุษย์ไม่มีความรู้ติดตัวมาตั้งแต่เกิด แต่ต้องค่อยๆ เรียนรู้จากประสบการณ์ทางประสาทสัมผัส นักปรัชญาที่มีชื่อเสียงมากในกลุ่มประสบการณ์นิยม ได้แก่ จอห์น ล็อค ซึ่งสรุปความคิดได้ว่า

ก. การรู้ความจริงตามแนวเหตุผลนิยม (วิธีการนิรนัย) มีจุดอ่อน คือ ไม่ได้ความรู้ใหม่ ส่งผลให้วิชาปรัชญาไม่ได้ทำประโยชน์อะไรให้กับสังคม
ข. ยอมรับวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ให้ความสำคัญแก่ประสบการณ์ในระดับประสาทสัมผัสในการแสวงหาความรู้ เพื่อได้ความรู้ใหม่ (จากการค้นคว้าทดลอง เป็นสาธารณะ/เผยแพร่ต่อสาธารณชนได้ เป็นสากล ช่วยคาดเดาอนาคตได้) มาเป็นหลักการได้มาซึ่งความรู้ในการแสวงหา/เข้าใจความจริง จึงนำวิธีการทางวิทยาศาสตร์มาเป็นวิธีการรู้ความจริงตามแนวปรัชญา
ค. การได้ความรู้อาศัยใช้วิธีการอุปนัย กล่าวคือ การกระโดดจากความจริง ส่วนย่อย (ที่มั่นใจแล้ว) ไปสู่ความจริงสากล เช่น รถคันที่หนึ่ง ตกน้ำ ผลคือ จมน้ำ รถคันที่สอง ตกน้ำ ผลคือ จม ดังนั้น รถทุกคันที่ตกน้ำ จะต้องจม เป็นต้น

2.2.2 ตัวอย่างแนวคิดที่เกี่ยวข้อง

แนวคิดประสบการณ์/ประจักษ์นิยม เน้นความรู้และการตัดสินความจริงอาศัยประสบการณ์ทางประสาทสัมผัส แนวคิดทำนองนี้เกี่ยวพันกับแนวคิด/ลัทธิทางปรัชญาหลายแนว เช่น แนวคิดปฏิฐานนิยม (Positivism) และพัฒนาสู่แนวคิดปฏิฐานนิยมใหม่ (Neo-positivism) ได้แก่แนวคิดแนวปฏิฐานนิยมแบบตรรกะ (Logical positivism) และแนววิเคราะห์ภาษา (Language analysis) นักปรัชญาสำคัญในกลุ่มนี้ ได้แก่ โอกุส กองต์ (Auguste Comte, ค.ศ. 1798 – 1857) จอห์น สจ๊วต มิล (John Stuart Mill, ค.ศ. 1806 – 1873) ลุกวิก วิตเก็นสไตน์ (Ludwig Wittgenstein, ค.ศ. 1889 – 1951) เป็นต้น

2.3 ปฏิบัตินิยม (Pragmatism)

แนวคิดปฏิบัตินิยม (Pragmatism) มีพื้นฐานจากการอธิบายความเป็นจริงว่า เป็นสสาร และจิต (ยอมรับว่าสสาร และจิต ต่างมีอยู่จริง และเป็นพื้นฐานของสรรพสิ่ง) จึงเห็นได้ว่าความจริงมีมากมาย เป็นไปไม่ได้ที่จะรู้ทั้งหมด ดังนั้น มนุษย์ควรเลือกที่จะรู้เฉพาะความจริงที่เป็นประโยชน์และสามารถนำไปใช้แก้ปัญหาในชีวิต นักปรัชญาสำคัญในกลุ่มนี้ ได้แก่ วิลเลียม เจมส์ และจอห์น ดิวอี้ เป็นต้น ซึ่งสรุปแนวความคิดนี้ได้ว่า

ก. เน้นการประนีประนอมความจริง ระหว่างสสารกับจิต
ข. เน้นความรู้เพื่อเอาไปใช้ประโยชน์/ นำไปปฏิบัติได้จริงในชีวิต
ค. เน้นการรู้จักตัวเอง เพื่อทำตัวให้ชีวิตดีขึ้น มีความสุขขึ้น

3. ทฤษฏีทางคุณวิทยา/อัคฆวิทยา

ตามที่ได้นำเสนอไปแล้วว่า ทฤษฏีความเป็นจริง (อภิปรัชญา) เป็นพื้นฐานสู่ทฤษฏีความรู้ (ญาณวิทยา) และทฤษฏีด้านคุณค่า (ความประพฤติ/จริยศาสตร์, ความงาม/สุนทรียศาสตร์) จึงขอนำเสนอแนวความคิดสำคัญของปัญหาเรื่องคุณค่า โดยแยกเป็นทฤษฏีความประพฤติ (จริยศาสต์) และทฤษฎีความงาม (สุนทรียศาสตร์)

3.1 ทฤษฏีทางจริยศาสตร์ : หลักการประพฤติ ปฏิบัติของมนุษย์

แบ่งคำตอบได้สามแนวทางสำคัญ ได้แก่

3.1.1 แนวคิดศานตินิยม

แนวคิดนี้ มีพื้นฐานบนแนวเหตุผลนิยม ซึ่งยืนยันศักยภาพของจิตมนุษย์ ว่าสามารถมุ่งสู่ความเป็นจริงสูงสุดได้ แต่ทั้งนี้ จำเป็นต้องมีแนวทางฝึกฝนจิต อาศัยกระบวนการพิเศษ เช่น วิปัสนา การบำเพ็ญตน ฯลฯ เพื่อขัดเกลาจิตให้สะอาด สงบ ปราศจากกิเลส ความหลงผิด หรืออวิชชา รวมถึงแนวคิดที่ถือว่าคุณค่าฝ่ายจิต (ความสุขสงบแห่งจิตใจ) มีคุณค่าสูงกว่าคุณค่าทางวัตถุ สสาร (ความสุขด้านร่างกาย) มนุษย์จึงควรตัดสละผลประโยชน์ทางวัตถุ เพื่อช่วยกันจรรโลง สนับสนุนการพัฒนาจิตให้มาก โดยมีเป้าหมายชีวิตอยู่ที่การบรรลุถึงจิตที่สมบูรณ์ ซึ่งไม่ได้อยู่ในโลกปัจจุบันนี้

ดังนั้น หลักการประพฤติ ปฏิบัติของมนุษย์ คือ จงแสวงหาความสงบสุขของจิตใจ เพื่อมุ่งสู่ความเป็นจริงสูงสุด กลุ่มนักปรัชญาที่ดำเนินตามแนวคิดนี้ได้แก่ แนวจิตนิยม อุดมการนิยม เป็นต้น

3.1.2 แนวคิดสุขนิยม/รตินิยม (Hedonism)

แนวคิดนี้ มีพื้นฐานบนแนวสสารนิยม ที่ให้ความสำคัญแก่ร่างกาย/กายภาพ ลดทอนและปฏิเสธคุณค่าของจิต หลักการดำเนินชีวิตของมนุษย์ คือ การส่งเสริม อำนวยความสะดวกด้านกายภาพแก่ชีวิต ทั้งนี้ ให้ระมัดระวังด้วยว่า การแสวงหาความสุขของแต่ละบุคคลต้องไม่รบกวนคนอื่น หรือทำให้สังคมวุ่นวาย เพราะถ้าความสุขที่เราได้รับนี้อยู่บนความทุกข์ของคนอื่น หรือทำให้สังคมวุ่นวาย จะส่งผลระยะยาวต่อการเสพสุขของแต่ละคน แนวคิดนี้ เสนอให้คำนึงถึงชีวิตที่เป็นอยู่ ไม่ใช่รอคอยความสุขในโลกหน้า ซึ่งพิสูจน์ไม่ได้ด้วยประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสว่ามีอยู่จริงหรือไม่ แนวคิดนี้อาจพัฒนาสู่แนวคิดประโยชน์นิยม (Utilitarianism) ที่เน้นการดำเนินชีวิตที่ส่งเสริมและให้ประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตในสถานการณ์ที่เป็นจริงของชีวิต โดยคำนึงถึงประโยชน์ต่อคนกลุ่มมากที่สุดเป็นหลักในการดำเนินชีวิต

ดังนั้น หลักการประพฤติ ปฏิบัติของมนุษย์ คือ การดำเนินชีวิตในปัจจุบัน ให้เป็นสุข ปราศจากความทุกข์ในชีวิตนี้ กลุ่มนักปรัชญาที่ดำเนินตามแนวคิดนี้ ได้แก่ แนวจักรกลนิยม กลุ่มจารวากของอินเดีย และแนวคิดของเอียงจื้อ เป็นต้น

3.1.3 แนวคิดมนุษยนิยม (Humanism)

แนวคิดนี้ ให้ความสำคัญต่อการพิจารณามนุษย์เป็นสำคัญ มนุษย์ที่ดำเนินชีวิตบนโลก ที่เป็นทั้งร่างกายและจิต (วิญญาณ) มนุษย์เป็นสิ่งที่มีอยู่บนโลก หลักการดำเนินชีวิตของมนุษย์ควรยึดเอาความก้าวหน้าของมนุษย์เป็นหลัก เนื่องจากมนุษย์คุณลักษณะพิเศษที่สามารถพัฒนาตนเองสู่ความเป็นจริงสูงสุดได้ แนวคิดนี้แบ่งย่อยได้เป็นสองแนว คือ แนวเทวนิยม และอเทวนิยม

นอกจากนั้น แนวคิดนี้ยังเชื่อมโยงกับแนวคิดของอิมมานูเอล ค้านท์ (Immanuel Kant, ค.ศ. 1724 – 1804) ที่เสนอแนะให้ดำเนินชีวิตตามหลักการที่ถูกต้อง ทำตามหน้าที่ที่มนุษย์พึงปฏิบัติเพื่อมุ่งสู่ความสมบูรณ์ที่แท้จริงของชีวิต

3.2 ทฤษฏีทางสุนทรียศาสตร์ : หลักการตัดสินความงาม

สุนทรียศาสตร์เป็นการศึกษาเรื่องความงามของศิลปะและความงามของสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติ ปัญหาที่สุนทรียศาสตร์ต้องค้นหาคำตอบคือ อะไรคือสิ่งสวยงาม เราจะตัดสินได้อย่างไรว่าอะไรงาม เราใช้อะไรเป็นมาตรฐานในการตัดสินว่าอะไรงามไม่งาม โดยมุ่งตอบด้านทฤษฏี หรือพูดง่าย ๆ คือ สาระสำคัญสุนทรียศาสตร์ก็คือ ความคิดเรื่องความงาม หรือปรัชญาศิลปะ (ความงาม) นั่นเอง

3.2.1 ศิลปะ (ความงาม) คือ อะไร

มีการอธิบายทฤษฏีศิลปะกว้างๆ 3 แนว คือ (สุเชาวร์ พลอยชุม, 2545)

ก. ทฤษฏีการเลียนแบบธรรมชาติ (Theory of imitation) เสนอแนวคิดว่า ศิลปะ คือ การเลียนแบบ การลอกแบบวัตถุธรรมชาติได้อย่างสมบูรณ์ครบถ้วน จัดว่าเป็นสิ่งสวยงามที่สุด (แนวคิดกรีกโบราณ) แนวคิดนี้ ได้รับอิทธิพลจากเปลโต้ และแผ่อิทธิพลยาวนาว จนถึงศตวรรษที่ 18 มีแนวคิดว่าศิลปะ คือ การลอกเลียน/คัดลอกสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติ (ศิลปิน ทำหน้าที่ลอกเลียนแบบสิ่งต่างๆ ตามธรรมชาติรอบตัว)

ข. ทฤษฏีการแสดงออก (Theory of Expression) เสนอแนวคิดว่า ศิลปะ คือ การแสดงออกมาจากภายในตัวศิลปิน สะท้อนถึงบุคลิกภาพภายในมนุษย์ หรือการถ่ายทอดความรู้สึกภายใน หรือระบายความในใจออกมา วัตถุประสงค์ของศิลปะ คือ ต้องการแสดงอารมณ์ภายในของมนุษย์ออกมาให้ปรากฏ โดย

1) การแสดงอารมณ์ที่เป็นศิลปะนั้น ต้องแสดงออกอย่างมีเจตนา
2) การแสดงอารมณ์ที่เป็นศิลปะ ต้องมีจุดประสงค์/คุณค่าในตัว
3) การแสดงอารมณ์ที่เป็นศิลปะ ไม่ใช่แบบวัตถุวิสัย/รูปธรรม (วิทยาศาสตร์) แต่เป็นเรื่องของความรู้สึกต่อวัตถุนั้นๆ
4) ให้ความสำคัญแก่สื่อที่ใช้ถ่ายทอดอารมณ์
5) ให้ความสำคัญกับความเป็นเอกภาพของอารมณ์/ความรู้สึก
6) เป็นการแสดงอารมณ์/ความรู้สึกของมนุษย์ทั่วไป ไม่ใช่ส่วนบุคคล

แนวคิดเช่นนี้ได้รับความนิยมในราวศตวรรษที่ 19 (แนวคิดของ ต็อลสลอย/ Leo Tolstoi, ค.ศ. 1828 – 1911, โครเช่/ Benedetto Croce, ค.ศ. 1866 – 1952)

ค. ทฤษฏีรูปทรง (Theory of Form) เสนอแนวคิดว่า ศิลปะ คือ งานสร้างสรรที่มีรูปทรง หรือโครงสร้างที่เป็นสัดส่วน สมดุล กลมกลืน คิดว่ารูปทรงเท่านั้นที่มีความสำคัญทางศิลปะ เพราะศิลปะไม่ใช่การลอกแบบสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่ความสวยงามของศิลปะเกิดจากรูปทรงอย่างเดียวเท่านั้น แนวคิดนี้เริ่มได้รับความนิยมในราวศตวรรษที่ 20 มีพื้นฐานจากอริสโตเติ้ลที่อธิบายว่า ความงามคือความกลมกลืนของสัดส่วนต่างๆ

3.2.2 ความงามขึ้นกับอะไร (เอาอะไรมาตัดสินความงาม)

มีแนวคำตอบ แยกได้สี่กลุ่ม ที่มีพื้นฐานบนทฤษฏีที่อธิบายปัญหาเชิงอภิปรัชญา ได้แก่

ก. แนวคิดอัตนัยนิยม (Subjectivism) : ความงามขึ้นกับแต่ละคน

มีแนวคิดว่าคุณค่าความงามขึ้นกับความสนใจของแต่ละบุคคล ไม่ได้ขึ้นกับวัตถุ เนื่องจาก

1) ถ้าไม่มีใครเห็นคุณค่าของวัตถุนั้น ก็จะไม่มีการตีคุณค่าทางสุนทรียะ
2) มนุษย์มีลักษณะบางอย่างที่เหมือนกัน และคุณสมบัติบางอย่างนี้เองทำให้มนุษย์มีความรู้สึกนึกคิดในทางสุนทรียะได้เหมือน ๆ กัน

ข. แนวคิดปรนัยนิยม (Objectivism) : ความงามเป็นคุณสมบัติของวัตถุ
แนวคิดนี้เสนอความคิดว่า ความงามเป็นคุณลักษณะของสิ่งนั้น (ในฐานะที่มันมีอยู่ มันย่อมมีความงาม) วัตถุมีความงามในตัวเอง ไม่ได้ขึ้นกับมนุษย์ เนื่องจาก
1) ความงามเป็นสิ่งที่มีอยู่ในวัตถุ
2) เราไม่อาจอธิบายความงามได้ ถ้าไม่มีวัตถุหรือตัวกลาง
3) ประสบการณ์บอกเราว่า ความงามอยู่นอกตัวมนุษย์ ไม่ว่าเราจะสนใจหรือไม่สนใจมันก็ตาม
4) เรารู้และตัดสินเรื่องความงามอาศัยความงามของวัตถุ

ค. แนวคิดสัมพัทธนิยม (Relativism) : ความงามขึ้นกับความสัมพันธ์
เป็นแนวคิดที่ประสานงานระหว่างแนวคิดอัตนัยนิยมและปรนัยนิยม มีความคิดว่าความงามขึ้นกับความสัมพันธ์ระหว่างตัวบุคคลกับวัตถุนั้น ถ้าบุคคล (อัตนัย) มีความสัมพันธ์กับวัตถุนั้น (ปรนัย) มากแค่ไหน ก็ยิ่งมีความงามมากขึ้นเท่านั้น

ง. แนวคิดนวนิยม : ความงามเป็นอุบัติการณ์ใหม่

เป็นแนวคิดที่ประสาน และพยายามแก้ปัญหาของแนวคิดที่นำเสนอไปแล้วข้างต้น มีความคิดว่า ความงามเป็น “สิ่งใหม่” ที่เกิดขึ้น ไม่ใช่แค่ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับวัตถุเท่านั้น นำเสนอว่า ความงามต้องมีองค์ประกอบต่างๆ ดังนี้

1) วัตถุซึ่งมีคุณสมบัติเฉพาะตัว (คุณค่าของความงาม)
2) บุคคลที่มีความรู้/ความสามารถที่จะตีคุณค่าหรือสนใจวัตถุนั้นต้อง
มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดระหว่างวัตถุกับบุคคล
3) ต้องมีหลักเกณฑ์สำหรับการตีคุณค่าทางสุนทรียะ
4) ความงามเกิดจากการที่วัตถุมีคุณสมบัติเข้าหลักเกณฑ์ที่ใช้ตัดสิน

ดังนั้น

- คุณค่าของความงาม เป็นผลิตผลหรือสิ่งที่เกิดจากการตีคุณค่าของเราตามหลักเกณฑ์อันเป็นที่ยอมรับ
- คุณค่าทางสุนทรียะ (ความงาม) เป็นคนละสิ่งกับสิ่งที่เรารับรู้ซึ่งมีอยู่ในขณะนั้น และคุณค่าทางสุนทรียะเปลี่ยนแปลงได้ แต่วัตถุไม่เปลี่ยนแปลง
- วัตถุไม่ใช่สิ่งเดียวกับคุณค่าทางสุนทรียะฉันใด การตัดสินตามข้อเท็จจริงก็เป็นคนละสิ่งกับการตัดสินทางคุณค่าสุนทรียะฉันนั้น
- ความงามจึงเป็นทั้งอัตนัยนิยม ปรนัยนิยมและสัมพันธนิยม


4. สรุปประจำบท

แนวคิดเชิงปรัชญาที่นำเสนอในรูปแบบของลัทธิต่าง ๆ ที่สำคัญ ดังตัวอย่างที่ยกมาข้างต้น แสดงให้เห็นถึงคุณลักษณะที่สำคัญประการหนึ่งของปรัชญาคือ วิพากษ์วิธี กล่าวคือ การนำเสนอประเด็นหนึ่ง ตามด้วยเหตุผล และต่อมามีนำเสนออีกประเด็นหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดที่หนึ่ง ตามด้วยเหตุผล จากนั้นมีการประสานระหว่างประเด็นที่หนึ่งกับประเด็นที่สอง พัฒนาการแนวคิดทางปรัชญาจึงต่อเนื่องและไม่สิ้นสุด จึงกล่าวได้ว่าไม่มีสูตรสำเร็จรูปหรือคำตอบตายตัวสำหรับความคิดเชิงปรัชญา ยังไม่มีคำถามที่ได้รับคำตอบอย่าง “อิ่มใจ” สำหรับนักปรัชญา ตราบใดก็ตามที่มนุษย์มีสติปัญญา มนุษย์ย่อมค่อย ๆ พัฒนาคำตอบให้ลงลึกสอดคล้องกับการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในสถานการณ์ของสังคม